วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔๔ + แกนกลาง ๕๑

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔

ที่มา
- school.obec.go.th/sangpt/laksootaaaa.doc
เป็นลิงค์จากเวปไซต์กระทรวงศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
- http://school.obec.go.th/sup_br3/borwon30.html
เป็นลิงค์จากเวปไซต์กระทรวงศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
- arc.nrru.ac.th/be/data/cur.pdf
เป็นลิงค์จากเวปไซต์สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
- http://www.curriculum2551.comindex.phpmod=download.pdf/
เป็นลิงค์จากเวปไซต์สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
- http://www.kroobannok.com/view.php?article_id=5261
เป็นลิงค์จากเวปไซต์ครูบ้านนอกดอตคอม ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลาง


เนื้อหาและประเด็นที่สำคัญ

หลักการ
เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปตามแนวนโยบายการจัดการศึกษาของประเทศ จึงกำหนดหลักการของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไว้ดังนี้
๑. เป็นการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มุ่งเน้นความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
๒. เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
๓. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ
๔. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระ เวลา และการจัดการเรียนรู้
๕. เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์

จุดหมาย
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์

โครงสร้าง
๑. ระดับช่วงชั้น
กำหนดหลักสูตรเป็น ๔ ช่วงชั้น ตามระดับพัฒนาการของผู้เรียน ดังนี้
ช่วงชั้นที่ ๑ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓
ช่วงชั้นที่ ๒ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔–๖
ช่วงชั้นที่ ๓ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑–๓
ช่วงชั้นที่ ๔ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔–๖
๒. สาระการเรียนรู้
กำหนดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย องค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการการเรียนรู้ และคุณลักษณะ หรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียนเป็น ๘ กลุ่ม ดังนี้ ๑)ภาษาไทย ๒)คณิตศาสตร์ ๓)วิทยาศาสตร์ ๔)สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ๕)สุขศึกษาและพลศึกษา ๖)ศิลปะ ๗)การงานอาชีพและเทคโนโลยี ๘)ภาษาต่างประเทศ
๓. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๓.๑ กิจกรรมแนะแนว
๓.๒ กิจกรรมนักเรียน

การจัดหลักสูตร
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สถานศึกษานำไปใช้จัดการเรียนรู้ในสถานศึกษานั้น กำหนดโครงสร้างที่เป็นสาระการเรียนรู้ จำนวน เวลาอย่างกว้าง ๆ มาตรฐานการเรียนรู้ที่แสดงคุณภาพผู้เรียนเมื่อจบ ๑๒ ปี และเมื่อจบการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้นของสาระการเรียนรู้แต่ละกลุ่ม สถานศึกษาต้องนำโครงสร้างดังกล่าวนี้ ไปจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษา โดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความพร้อม เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องจัดทำรายวิชาในแต่ละกลุ่มให้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนด

การจัดการเรียนรู้
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ฉะนั้น ครู ผู้สอน และผู้จัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของตน

สื่อการเรียนรู้
การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรสถานศึกษามุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความยืดหยุ่น สนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมทั้งจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชนและแหล่งอื่น ๆ เน้นสื่อที่ผู้เรียนและผู้สอนใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียน ผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเองหรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว และในระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อ และแหล่งความรู้ โดยเฉพาะหนังสือเรียน ควรมีเนื้อหาสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้น สื่อสิ่งพิมพ์ควรจัดให้มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ควรให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อ หรือห้องสมุดของสถานศึกษา

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน สถานศึกษาต้องมีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการวัดและประเมินทั้งในระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติตลอดจนการประเมินภายนอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียนแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา

เกณฑ์การจบหลักสูตร
- เรียนสาระการเรียนรู้ครบและได้รับการตัดสินผลการเรียน
- ผ่านการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน ปฏิบัติ
- ผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
- ผ่านการประเมินการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การพัฒนาศักยภาพครู
การพัฒนาศักยภาพครู ให้มีความเป็นผู้นำทางวิชาการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ อาศัยความร่วมมือของครูแกนนำ ครูต้นแบบ และสถาบันการศึกษาชั้นสูง เช่น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของสถาบันราชภัฎและมหาวิทยาลัย รวมทั้งชมรมวิชาชีพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรที่ต้องอาศัยการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษา ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลักสำคัญ



หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

วิสัยทัศน์
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลย์ ทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย และเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ.

หลักการ
• เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมาย มาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายการพัฒนาเด็กและเยาวชน
• การศึกษาเพื่อปวงชน เสมอภาค และมีคุณภาพ
• สนองการกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วม
• มีความยืดหยุ่น
• เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
• สำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และ ตามอัธยาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์.

จุดหมาย
1. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. มีความรู้อันเป็นสากลและมีความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยีและมีทักษะชีวิต
3. มีสุขภาพและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย
4. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงาม ในสังคมและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข.

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
1. ความสามารถในการสื่อสาร
2. ความสามารถในการคิด
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี.

คุณลักษณะอันพึงประสงค์
1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
2. ซื่อสัตย์สุจริต
3. มีวินัย
4. ใฝ่เรียนรู้
5. อยู่อย่างพอเพียง
6. มุ่งมั่นในการทำงาน
7. รักความเป็นไทย
8. มีจิตสาธารณะ.

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
1. กิจกรรมแนะแนว
2. กิจกรรมนักเรียน
3. กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์.

การเปรียบเทียบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 กับ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551






































ข่าว ที่มีประเด็น ทางการศึกษาที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวข้องกับ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช 2544 กับ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551

สื่อเพื่อส่งเสริมคุณธรรมสมัยใหม่



ในอดีตนั้นสื่อที่เผยแพร่ คุณธรรมและจริยธรรมใช้ตัวบุคคลเป็นสื่อที่แสดงเป็นแบบอย่าง และคำพูดที่แสดงออกมาเป็นคำสั่งสอนให้คนยึดถือและปฏิบัติตาม แต่ในปัจจุบันนั้นทิศทางของสื่อในอนาคตโดยเฉพาะที่เป็นสื่อในอุดมคตินั้นอาจ จะแตกต่างจากสื่อที่จะเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่มีต่อสื่อในอนาคตนั้นเชื่อว่าทุกคนมีความคาดหวังจะเห็นสิ่งดี งามที่เกิดขึ้นกับสื่อ เพราะสื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในสังคม เนื่องจากคนในสังคมนั้นใช้สื่อเป็นช่องทางของการสร้างความสัมพันธ์ ถ้าสื่อดี สื่อมีคุณธรรม และเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมมีความสุข ในทางตรงข้าม ถ้าสื่อไม่ดี สื่อไม่มีคุณธรรม และเป็นสื่อที่ไม่สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคมแล้ว จะส่งผลถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม คงทำให้คนในสังคมมีแต่ความทุกข์ หาความสงบสุขไม่ได้ สื่อจึงมีความสำคัญและสัมพันธ์กับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์อย่างมาก นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันวิวัฒนาการของสื่อและความสัมพันธ์ของมนุษย์มีมา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน ถ้าพิจารณาโดยหลักธรรมในพุทธศาสนาแล้ว ทั้งสื่อและความสัมพันธ์ทางสังคมต่างฝ่ายก็ตกอยู่ในองค์ประกอบตามหลักของ ปฏิจจสมุปบาท (เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพุทธศาสนา อธิบายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้นการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา) และกฏของ อิทัปปัจจยตา ( กฏอิทัปปัจจยตา ถือ เป็นหัวใจ ปฏิจจสมุปบาท มีใจความดังนี้ “เมื่อสิ่งนี้ มี สิ่งนี้ย่อม มี” เพราะ "ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป" ) ดังนั้นการจะกล่าวถึง สื่อเพื่อส่งเสริมคุณธรรมสมัยใหม่นั้นจึงขอใช้ฐานของความคิดทางด้านพุทธ ศาสนาเป็นตัวนำสำหรับการแสดงถึงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย บนเส้นทางปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 2



ประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวชี้ว่า ศักยภาพและคุณภาพของคนอันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศอื่นๆ

ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ลงทุนในเรื่องการศึกษาไปไม่น้อย แต่เป็นการลงทุนเชิงปริมาณ สั่งการ และเหมาโหล มากกว่าคำนึงถึงรายละเอียด การมีส่วนร่วม ตลอดจนบริบทและคุณภาพที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ถือเป็นการจัดการศึกษาอย่างคับแคบ คือ สร้างระบบการศึกษาแบบบันไดดารา แบบแพ้คัดออก

ที่น่าหนักใจกว่านั้นคือ เด็กที่ไม่เก่ง ไม่รู้จะเรียนอะไร ส่วนใหญ่มักจะมาเลือกเรียนครู ทำให้เส้นทางของคนเรียนครูในปัจจุบันนี้ คือเส้นทางของคนที่ไม่มีทางไปในเรื่องการศึกษา ส่งผลไปยังอนาคตว่าเราให้คนแบบนี้ ซึ่งนอกจากไม่เก่งแล้ว ยังสิ้นหวังและขาดจินตนาการมาสอนเด็กนักเรียน เด็กรุ่นต่อไปจะมีคุณภาพได้อย่างไร เพราะคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กจะไม่มีวันสูงเกินกว่าคุณภาพของครู

ปัญหาการศึกษาในวันนี้ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันแก้ไข มากกว่าจะปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนแบกรับ เราต้องคิดเรื่องการศึกษาในวงที่กว้างกว่าที่เคยทำและเคยเป็นอยู่ คือต้องคิดรวมถึงการพัฒนาเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สถาบันการศึกษา ประชาชนในทุกภาคส่วน องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคธุรกิจที่สนใจเรื่องการศึกษา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น (All For Education)

ผู้เขียนเชื่อว่า หัวใจของคุณภาพการศึกษาอยู่ที่โรงเรียน การปฏิรูปการศึกษาจะไม่เกิดผลอะไรเลย ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้โรงเรียนสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ เพราะเมื่อโรงเรียนและครูไม่มีคุณภาพ เราจะคาดหวังให้นักเรียนมีคุณภาพได้อย่างไร

และถ้าคุณภาพการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 แล้ว คำถามคือ เราจะเริ่มต้นแก้ไขคุณภาพการศึกษากันที่ตรงไหน และอย่างไร ?

น่าจะเป็นคำถามแรกที่ต้องหาคำตอบให้ชัด...!!